ประวัติ ของ เจ้าลัดดา ณ น่าน

เจ้าลัดดามีนามเดิมแต่แรกเกิดว่า เจ้าหมัดคำ ณ น่าน ที่มีความหมายว่า "สะเก็ดไฟสีทอง" เป็นธิดาในเจ้ามหาพรหมสุรธาดา เกิดแต่เจ้าศรีคำ ณ น่าน มีพี่ชายร่วมมารดาคือ เจ้าสนิท ณ น่าน หลังเจ้ามหาพรหมสุรธาดาพิราลัย เจ้าลัดดาจึงเข้าศึกษาที่โรงเรียนจุมปีวนิดาภรณ์โดยอาศัยกับเจ้าราชบุตร (หมอกฟ้า ณ น่าน) พี่ชายต่างมารดา ต่อมาจึงกลับไปอยู่กับเจ้าศรีคำผู้มารดาโดยศึกษาที่โรงเรียนรังสีเกษม ในช่วงเวลาดังกล่าวเธอได้เปลี่ยนชื่อจาก "หมัดคำ" เป็น "ลัดดา" เพราะกลัวคนจะล้อว่าชื่อโบราณ

เมื่อถึงชั้นมัธยมศึกษาจึงเข้าศึกษาที่โรงเรียนสตรีศรีน่าน โดยมีเจ้าราชบุตร (หมอกฟ้า) ให้การอุปการะอีกครั้ง จนจบมัธยมศึกษาปีที่ 4 จึงรับทุนไปศึกษาต่อที่โรงเรียนฝึกหัดครูเชียงใหม่ วิชาเอกครูประถม จนกระทั่งสำเร็จการศึกษาจึงกลับมาใช้ทุนในจังหวัดน่าน โดยรับราชการครูที่โรงเรียนวัดป่าค่า ก่อนย้ายไปโรงเรียนตาลชุมพิทยาคม และโรงเรียนบ้านวังม่วง ทั้งหมดตั้งอยู่ในในอำเภอเวียงสา ตามลำดับ จนกระทั่งเกษียณอายุราชการ

เจ้าลัดดาเข้ารับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์[4]

เจ้าลัดดาเสียชีวิตเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2565 ด้วยอาการสงบ ณ บ้านสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ก่อนวันครบรอบการพิราลัยของเจ้ามหาพรหมสุรธาดาเพียงหนึ่งวัน[5] ศพตั้งบำเพ็ญกุศลและสวดอภิธรรมตั้งแต่วันที่ 17-21 สิงหาคม พ.ศ. 2565 ณ วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร จังหวัดเชียงใหม่[6] และวันที่ 23-29 สิงหาคม พ.ศ. 2565 ณ วัดพระธาตุแช่แห้ง จังหวัดน่าน[1] การนี้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพวงมาลาเพื่อวางหน้าหีบศพของเจ้าลัดดาเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2565[7]